//counter_visiter($_SERVER['REMOTE_ADDR']);?>
จบไปแล้วสำหรับโครงการ Mekong ICT Camp ที่จัดขึ้นที่ โรงแรม Sokha Siem Reap Resort and Convention Center ที่เมืองเสียมราฐ (Siem Reap) ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4-8 กันยายน 2560 ค่ายที่เปิดโอกาสให้คนทำงานภาคประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้มาฝึกอบรมงานด้านเทคโนโลยีที่จะมาสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานในแต่ละพื้นที่ได้ วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณพวงชมพู รามเมือง ผู้จัดการของโครงการ Mekong ICT Camp ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน จึงได้สอบถามถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้และรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
จัดครั้งแรก...เมื่อปี 2008 ความคิดในการจัดงานตอนนั้นก็คือ เรามองเห็นว่า NGO และหน่วยงานหรือองค์กรภาคประชาสังคมมีช่องว่างในการเข้าถึงงานอบรมด้าน ICT ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่รวมถึงประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ก็คือ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งในตอนนั้นถ้าจะได้เข้าอบรมหรือสัมมนาความรู้ใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีเพื่องานพัฒนาก็ต้องบินไปที่อื่น ไม่ได้เข้าถึงง่ายอย่างในปัจจุบัน
ไอเดียของงาน...มาจาก ค่าย Source Camp ที่จัดขึ้นโดย Tactical Technology Collective เป็นแคมป์ด้านเทคโนโลยีที่จัดขึ้นเพื่อคนทำงานพัฒนาสังคม ที่จัดขึ้นในขณะนั้น ในประเทศ อินเดียและ อินโดนีเซีย จึงได้มาปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับพื้นที่ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่ง NGO หรือคนทำงานในภาคนี้ก็จะมีปัญหาทางสังคมที่มีความคล้ายคลึงหรือร่วมกันอยู่
เป้าหมายของการจัดงาน...หลักๆคือ การพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานพัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพของบุคลากรคนที่ทำงาน NGO องค์กร สื่อ บุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคม ที่เทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีความรู้ทางเทคโนโลยีไปปรับใช้กับงานในพื้นที่มากขึ้น
ความพิเศษของค่ายครั้งนี้...ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ออกไปจัดงานในต่างประเทศ คือ เมืองเสียมราฐ (Siem Reap) ประเทศกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาเราจัดแต่ภายในประเทศด้วยที่เราเห็นว่ามันสะดวกในการจัดทั้ง พื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆและการประสานงาน จริงๆเราก็อยากที่จะนำค่ายออกไปจัดที่ประเทศอื่นๆในลุ่มน้ำโขงมาสักพักแล้วแต่ด้วยอะไรหลายๆอย่างมันไม่ลงตัวสักที ในปีที่ผ่านมาเราได้เจอ partner ในกัมพูชา ซึ่งก็คือ ODC (Open Development Cambodia) Emerald Hub มาช่วยในเรื่องของการหาพื้นที่จัดกิจกรรมและทีมงานบางส่วน และเราก็มีความมั่นใจในการออกไปจัดงานในประเทศไทยมากขึ้น
รูปแบบกิจกรรม...กิจกรรมก็จะเป็นลักษณะของค่ายเรียนรู้ 5 วัน ในปีนี้มีมี Theme การเรียนรู้ Cross Border Collaboration with Data โดยมีกระบวนการเรียนรู้คือ Workshop การบรรยาย และcase study หน่วยการเรียนรู้ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน (Track) ดังนี้ 1) Innovation Practice 2) Civic participation in Governance และ 3) Technology Infrastructure โดยเราได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกเรียนรู้ตามหน่วยที่สนใจ (Track) ที่จะเรียนรู้ได้เองว่าอยากเข้าไปเรียนในส่วนไหน ครั้งนี้เรามีผู้เข้าประชุมจะมาจากประเทศในลุ่มน้ำโขง ประเทศละ 15 คน และ ผู้บรรยายจากทั่วโลก จำนวน 29 คน
ปีนี้พิเศษ...เราได้รับการสนับสนุนทุนจากแหล่งทุนที่สนใจกิจกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลกรที่ทำงานทางสังคม และที่พิเศษจากปีที่ผ่านมาคือ ในปีนี้ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อทำ Seed Grant คือการสนับสนุนทุนทำงานโครงการต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ซึ่งการสนับสนุนทุนก็เป็นพันธกิจ หนึ่งของมูลนิธิกองทุนไทยที่สนับสนุนทุนทำงานให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย กระบวนการคัดเลือกโครงการเพื่อนมอบทุน Seed Grant นี้ได้ทำขึ้นระหว่าง การจัดงาน Mekong ICT Camp 2017 จำนวน 5 รางวัลๆ ละ 3,000 USD (ประมาน 100,000 บาท)
ความสำเร็จในปีนี้...เท่าที่สำรวจจากการพูดคุยกับผู้ร่วมโครงการ เขาก็บอกว่า เขาได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆที่จะนำไปปรับใช้ได้มากขึ้น โดยรูปแบบการเรียนรู้ก็จะมี ถ้าประเมินจากสายตา เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะทางรัฐบาลจากกัมพูชาเขาก็ให้ความสนใจงานที่เราจัดขึ้นและทางทีมงานจากัมพูชาเขาก็มีความสุขกับการทำงานและอยากร่วมทำงานกับเราต่อ
เป้าหมายในปีต่อไป...ในปีหน้าค่ายเราจะครบ 10 ปี นอกจากที่เรามีแผนจะแปลตัวหลักสูตรเนื้อหาเป็นภาษาไทยเพื่อนำโครงการมาจัดให้กับคนไทยแล้ว เราอยากจะรวมศิษย์เก่าจากค่ายของเราที่มีผลงานโดดเด่นในประเทศของตนเองโดยใช้นวัตกรรมในการทำงานแก้ไขปัญหาทางสังคม มาพูดให้แรงบันดาลใจกับคนอื่นๆและลองมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของกลุ่มคนภาคประชาสังคมกัน อาจจะเป็นเวทีเล็กๆเหมือนงานเสวนางานประชุม เดี๋ยวต้องรอดูกันอีกทีว่ารูปแบบและขนาดของงานจะออกมาเป็นแบบไหน
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มและติดตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไปได้ที่ https://mekongict.org/
ที่มาภาพ: วิวัฒน์ สาทรสวัสดิ์
บทสัมภาษณ์: ลักษณพร ประกอบดี